แทบทุกคนคงรู้จักกับภาษีสิ้นปี แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว บางคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีกลางปีด้วย ส่วนคนที่มีรายได้แบบไหนที่ต้องนำไปยื่นและมีสิ่งใดที่ต้องรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีกลางปีนั้นเรามาทำความรู้จักในบทความนี้กัน
- รายได้ใดบ้างที่ต้องยื่นภาษีกลางปี
รายได้ที่ต้องยื่นภาษีกลางปี ได้แก่ เงินได้มาตรา40(5)-40(8) เช่น [ก] รายได้จากค่าเช่า สำหรับคนที่มีบ้าน/คอนโดฯ รวมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อปล่อยเช่า [ข] รายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งปัจจุบันมี 6 วิชาชีพ เช่น แพทย์/พยาบาล ที่ปรึกษากฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม โดยรายได้นี้ต้องเกิดจากการทำงานที่เป็นอิสระ ไม่ใช่จากงานประจำอย่าง เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส [ค] รายได้จากธุรกิจต่างๆในนามบุคคลธรรมดา เช่น รับเหมาค้าขาย เป็นต้น
. - ยื่นจำนวนเท่าไร เมื่อไหร่ ต้องนำรายได้ต่างๆ
ที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่ได้รับจริงในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ในแต่ละปีไปยื่นตามแบบ ภ.ง.ด. 94 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของปีเดียวกัน
. - ต้องยื่นภาษีสิ้นปีอีกหรือไม่
ยังคงต้องยื่นรายได้และค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่ได้รับตลอดทั้งปี ซึ่งรวมถึงส่วนที่ได้เคยยื่นตอนกลางปีแล้วไปยื่นภาษีอีกครั้งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 90เพื่อคำนวณภาษีที่แท้จริงของปีภาษีนั้นๆ โดยอาจมีการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอคืนเงินภาษีก็ได้
. - ไม่ยื่นกลางปี
รอยื่นครั้งเดียวสิ้นปีได้หรือไม่ หากมีเงินได้มาตรา40(5) – 40(8) แต่ไม่ยื่นภาษีกลางปี ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี เพราะไม่ยื่นและจ่ายภาษีภายในเดือนกันยายนของแต่ละปี ซึ่งนอกจากมีเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้ว ยังมีโทษปรับสูงสุด2,000 บาท อีกด้วย
. - คำนวณภาษีอย่างไรคล้ายๆ กับการคำนวณภาษีสิ้นปี
แต่ต่างกันที่ค่าลดหย่อนส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้เพียงครึ่งเดียว เช่น ลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ ที่ใช้สิทธิทั้งปีได้ 60,000 บาท ส่วนการยื่นกลางปีใช้สิทธิได้ 30,000 บาทเท่านั้น แต่สำหรับการลดหย่อนในกองทุนLTF กองทุน RMF สามารถนำเงินลงทุนที่เกิดขึ้นจริง (แต่ไม่เกินสิทธิสูงสุด เช่น 15% ของเงินได้พึงประเมินที่เสียภาษี ในครึ่งปีแรก) ไปลดหย่อน เพื่อลดภาระภาษีจ่ายกลางปีได้ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 94 นั้น มีเพียงการจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่เท่านั้น ยังไม่มีการคืนเงินภาษีในช่วงกลางปี
ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีรายได้มาตรา 40(5) – 40(8) รายการใดรายการหนึ่งแล้ว ล้วนมีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 94 ในช่วงกลางปีเพื่อชำระภาษีบางส่วนก่อน โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน LTF กองทุน RMF เพื่อบรรเทาภาษีกลางปีได้ และทำการชำระภาษีเพิ่มอีกครั้งเมื่อคำนวณภาษีสิ้นปี แต่หากละเลยไม่ยื่นภาษีกลางปี ต้องมีโทษปรับและชำระเงินเพิ่มด้วย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงหน้าที่และสิทธิของผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายและเกณฑ์ของกรมสรรพากร
โดย ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนมิถุนายน 2561
– ถ้าคุณอยากเริ่มวางแผนการเงิน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร?
– อยากเริ่มลงทุน แต่ไม่มีเวลาจัดการเอง
– เสียภาษีเยอะจัง ควรเริ่มจัดการอย่างไร?
– SSF หรือ RMF กองไหนน่าสนใจ?
– ประกันมีให้เลือกหลายแบบ เลือกไม่ถูก?