ครอบครัวที่มีลูกและให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะเชื่อว่าการศึกษาทำให้ลูกมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตและมักจะมีคำถามว่าแล้วเราควรเตรียมค่าเล่าเรียนอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปพ่อแม่มักจะเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อออมเงินให้ลูกเป็นรายเดือนโดยไม่แน่ใจว่า ลูกอยากเรียนอะไร และต้องออมเงินมากน้อยเพียงใดจึงจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินเพื่อการศึกษา
ความคาดหวังของพ่อแม่อย่างน้อยลูกควรจะจบระดับปริญญาตรีและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีซึ่งค่าเล่าเรียนสำหรับการเรียนภาคภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้บางครอบครัวที่ไม่มีการวางแผนการออมการลงทุนเตรียมค่าเล่าเรียนล่วงหน้าอาจจะมีความจำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้ยืมเพื่อชำระค่าเทอมแบบเฉพาะหน้า
แนวทางในการวางแผนเตรียมค่าเล่าเรียนบุตร เพื่อให้บุตรเรียนจบการศึกษาตามที่ผู้ปกครองตั้งใจมีดังนี้
- กำหนดงบประมาณค่าเทอม หาข้อมูลค่าเทอม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าแรกเข้า ค่าอาหาร ค่ากิจกรรม ฯลฯ ของสถาบันการศึกษาที่ตั้งใจให้ลูกเรียน
. - การปรับขึ้นของค่าเทอม ค่าเทอมมีโอกาสปรับราคาเพิ่มขึ้น ตามภาวะเงินเฟ้อ และตามนโยบายของสถาบันการศึกษา การประมาณการค่าเทอมขั้นต่ำจึงควรต้องคำนวณโดยคำนึงถึงเงินเฟ้อ จนถึงปีที่ต้องชำระค่าเทอมนั้นด้วย
. - วางแผนการออมและการลงทุน ลงทุนในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่ต้องชำระค่าเทอมและตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ปกครองรับได้
. - การหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม หากเตรียมค่าเทอมไม่ทันควรหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมเพื่อชำระค่าเทอมเนื่องจากผู้ปกครองบางครอบครัวใช้บัตรเครดิตชำระค่าเทอมและผ่อนค่าเทอมกับบัตรเครดิต หรือใช้บริการสินเชื่อบุคคลซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง 19-24% ต่อปี จึงควรหาแหล่งเงินกู้ยืมให้ตรงกับวัตถุประสงค์ สถาบันการเงินบางแห่งจะมีบริการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษา โดยใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะมีการคิดดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสินเชื่อบุคคลหรือบัตรเครดิต
. - การบริหารความเสี่ยงของแผนการศึกษา ครอบครัวที่ผู้ปกครองเสียชีวิตไปก่อนที่ลูกจะจบการศึกษาอาจส่งผลให้เป้าหมายการศึกษาของลูกไปไม่ถึงจุดหมายดังนั้นการพิจารณาทำประกันชีวิตทั้งในแผนการออมเงินเพื่อการศึกษา และทำประกันคุ้มครองสินเชื่อกรณีกู้เงินเพื่อการศึกษา โดยมีวงเงินคุ้มครองครอบคลุมจำนวนเงินค่าใช้จ่ายการศึกษาที่ต้องการ หรือครอบคลุมภาระหนี้หากมีการกู้จ่ายค่าเทอม เป็นการทำให้มั่นใจได้ว่า ลูกเรียนจบตามที่ตั้งใจแน่นอนและไม่ทิ้งภาระการผ่อนค่าเทอมไว้กับคนข้างหลัง
ทั้งนี้ควรสังเกตความชอบความสนใจของลูก แนะแนวการศึกษาและการประกอบอาชีพอนาคตให้กับลูกเพื่อให้ลูกของท่านเลือกศึกษาในสาขาวิชาที่สนับสนุนการประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจของลูกได้ในอนาคต
โดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561
– ถ้าคุณอยากเริ่มวางแผนการเงิน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร?
– อยากเริ่มลงทุน แต่ไม่มีเวลาจัดการเอง
– เสียภาษีเยอะจัง ควรเริ่มจัดการอย่างไร?
– SSF หรือ RMF กองไหนน่าสนใจ?
– ประกันมีให้เลือกหลายแบบ เลือกไม่ถูก?